ข่าวการศึกษาไทย
  • ธันวาคม 17, 2022

สพฐ.เดินหน้าขับเคลื่อนต้นแบบการจัดการศึกษาทางไกลแบบสื่อสารสองทาง

สพฐ.เดินหน้าขับเคลื่อนต้นแบบการจัดการศึกษาทางไกลแบบสื่อสารสองทาง

ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และคณะ ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียนและประชุมติดตามการดำเนินงานโรงเรียนในโครงการจัดการศึกษาทางไกลแบบสื่อสารสองทาง สำหรับระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ระยะที่ 2 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ ห้องประชุมแก้วกินรี โรงเรียนมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหารโดยโรงเรียนในโครงการจัดการศึกษาทางไกลแบบสื่อสารสองทาง สำหรับระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีโรงเรียนต้นทางคือ โรงเรียนมุกดาหาร สพม.มุกดาหาร และโรงเรียนปลายทาง 3 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียมัธยมพัชรกิติยาภา ๑ นครพนม สพม.นครพนม โรงเรียนบ้านกกตูม สังกัด สพป.มุกดาหาร และโรงเรียนวัดฤาษีสถิต สังกัด สพป.บุรีรัมย์ เขต 4

ในการประชุมครั้งนี้ มีผู้ร่วมประชุม ประกอบด้วย ตัวแทนจาก สพฐ. ได้แก่ ดร.ชนาธิป ทุ้ยแป รักษาการผู้อำนวยการสำนักทดสอบทางการศึกษา นางสาวนวลพรรณ พูลศรีสวัสดิ์ รองผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน นางสาวชยพร กระต่ายทอง  รองผู้อํานวยการสํานักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา และนักวิชาการศึกษา สทศ. สวก. ศนฐ.และ สทร. พร้อมด้วยคณะกรรมการในภูมิภาค โครงการจัดการศึกษาทางไกลแบบสื่อสารสองทาง สำหรับระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ระยะที่ 2 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วย นายอภิชัย ทำมาน ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครพนม เขต 1 ประธานกรรมการและผู้ตรวจราชการกลุ่มพื้นที่การศึกษาประจำเขตตรวจราชการที่ 11 นายมนัส เจียมภูเขียว ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชัยภูมิ เขต 2 ประธานกรรมการและผู้ตรวจราชการกลุ่มพื้นที่การศึกษา ประจําเขตตรวจราชการที่ 13  นายจรณเดช บุปผาชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษามุกดาหาร นายโชคชัย จันทะโสตถิ์ รอง ผอ. สพม. มุกดาหาร นายฉัตรชัย ไชยมงค์ รอง ผอ. สพม. นครพนม นายประภาส ไชยมี รอง ผอ.สพป. มุกดาหาร ผู้แทน ผอ.สพป. บุรีรัมย์ เขต 4 และผู้อำนวยการโรงเรียนในโครงการ ประกอบด้วยโรงเรียนมุกดาหาร โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา 1 นครพนม และโรงเรียนบ้านกกตูม จ.มุกดาหาร

ข่าวการศึกษาไทย

จาการประชุมและการนำเสนอผลการจัดการเรียนการสอนที่ผ่านมาในครั้งนี้ รองเลขาธิการ กพฐ. ได้จัดคณะดำเนินงานจาก สทร. สวก. สทศ. และ ศนฐ. เพื่อให้การสนับสนุนการดำเนินงานของโรงเรียนในโครงการ พร้อมทั้งช่วยเสนอแนะแนวทางการวัดผลประเมินผลสำหรับนักเรียนที่มีความแตกต่างกันอย่างเป็นรูปธรรม  อีกทั้งยังมุ่งเน้นให้มีการจัดการเรียนการสอนโดยใช้กระบวนการ Active Learning โดยให้ความเชื่อมั่นว่าศึกษานิเทศก์ในพื้นที่ จะร่วมมือในการเข้ามาพัฒนาและให้คำแนะนำครูผู้สอนได้ เพื่อให้โครงการบรรลุวัตถุประสงค์ และผู้เรียนเป็นคนดี เก่ง และมีความสุข

นอกจากนี้ รองเลขาธิการ กพฐ. ยังได้ชื่นชมโรงเรียนต้นทางมีการพัฒนาการดำเนินงานโครงการเป็นอย่างดี เป็นเสมือนพี่อย่างแท้จริง ช่วยนักเรียนโรงเรียนปลายทางให้ได้เรียนรู้ไปพร้อมกับโรงเรียนต้นทางซึ่งมีความพร้อมด้านบุคลากรและสื่อการจัดการเรียนรู้ โดยได้รับการสนับสนุนจากเขตพื้นที่การศึกษาที่เป็นต้นสังกัดของโรงเรียนต้นทางและโรงเรียนปลายทางอย่างดี รวมถึงครูทั้งโรงเรียนต้นทางและโรงเรียนปลายทางมีการทำ PLC ร่วมกัน ทั้งนี้ครูโรงเรียนต้นทางเตรียมการจัดการเรียนการสอนอยู่ตลอด เพื่อให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้อย่างเข้าใจเท่าเทียมกันทุกห้องเรียนทั้งต้นทางและปลายทาง

ดร.เกศทิพย์ กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้มอบหมายให้สำนักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน ทำการสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับระบบ และอุปกรณ์การเรียนการสอน เพื่อปรับปรุง หรือจัดสรรเพิ่มเติม และในวันที่ 8 ธันวาคม 2565 นี้ จะนัดหมายสำนักที่เกี่ยวข้อง ประชุมสรุปผลการตรวจเยี่ยมโรงเรียนในโครงการ เพื่อเตรียมการนำเสนอต่อคณะกรรมการมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ต่อไป

ติดตามข่าวสารของการศึกษาไทยได้ที่นี่ ⇒⇒⇒ ตรีนุช เจรจารมต.ศึกษาสิงคโปร์ พัฒนาแพลตฟอร์มจัดการเรียนการสอน รร.ห่างไกล

ข่าวการศึกษา
  • ตุลาคม 25, 2022

ตรีนุช เจรจารมต.ศึกษาสิงคโปร์ พัฒนาแพลตฟอร์มจัดการเรียนการสอน รร.ห่างไกล

“ตรีนุช” เจรจารมต.ศึกษาสิงคโปร์ พัฒนาแพลตฟอร์มจัดการเรียนการสอน รร.ห่างไกล

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยว่า จากที่ตนพร้อมด้วยดร.อรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และคณะ ได้เป็นผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 12 ที่ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ระหว่างวันที่ 13-14 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ตน ได้เจรจาหารือร่วมกับ นาย Chan Chun Sing รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของประเทศสิงคโปร์ เกี่ยวกับความร่วมมือทวิภาคีระหว่างกระทรวงศึกษาธิการประเทศไทยกับกระทรวงศึกษาธิการประเทศสิงคโปร์ โดยเฉพาะเรื่องการจัดการฝึกอบรมให้แก่ครูไทย รวมถึงการใช้แพลตฟอร์มสำหรับการเรียนการสอนให้แก่นักเรียนในโรงเรียนที่อยู่ห่างไกล เนื่องจากสิงคโปร์มีแพลตฟอร์ม Model school ที่สนับสนุนการเรียนได้ทุกวิชาและพร้อมที่จะช่วยอบรมให้กับไทยได้

ข่าวการศึกษา

“การศึกษาของไทยมีความแตกต่างหลากหลายตามบริบทของพื้นที่ ซึ่งทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างคนในเมืองกับคนในชนบทห่างไกล โดยกระทรวงศึกษาธิการของไทยก็มีการออกแบบแพลตฟอร์มการเรียนที่ช่วยลดช่องว่างในการจัดการเรียนการสอน ควบคู่ไปกับนโยบายลดอัตราการหลุดจากการศึกษา (Drop out) เพื่อนำเด็กกลับมาเข้าสู่ห้องเรียนและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ดิฉันจึงได้หารือกับสิงคโปร์ในประเด็นดังกล่าว”รมว.ศึกษาธิการ กล่าวและว่า ทางสิงคโปร์ ได้ให้ความสนใจเป็นพิเศษในเรื่องระบบการศึกษาของประเทศไทย โดยเฉพาะกระบวนการผลิตครู การฝึกอบรมครู การจัดสวัสดิการของครู การสับเปลี่ยนหรือเคลื่อนย้ายครู และการก้าวเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหาร รวมถึงขอให้ไทยสานต่อความร่วมมือระหว่างกันในกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนต่าง ๆ เช่น โครงการแลกเปลี่ยนนักเรียน โครงการค่ายนักเรียนไทย-สิงคโปร์ (STEP Camp) ทุนการศึกษาของสิงคโปร์ และโครงการฝึกอบรมครูสาขาต่าง ๆ ซึ่งได้หยุดชะลอไปในช่วงโควิด-19 แต่ตอนนี้สถานการณ์ได้คลี่คลายแล้ว จึงควรมีการดำเนินการต่อ ตลอดจนพัฒนาแพลตฟอร์มที่ครูสามารถแลกเปลี่ยนและเข้าถึงสื่อการเรียนการสอนที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาห้องเรียนด้วย โดยสิงคโปร์มีโปรแกรมที่พร้อมจะให้การสนับสนุนการฝึกอบรมของไทย เช่น การฝึกอบรมพื้นฐาน โปรแกรมฝึกงานด้านอุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เป็นต้น ซึ่งในการหารือครั้งนี้ไทยได้เสนอความร่วมมือเพิ่มเติมในโครงการอบรมครูอาชีวศึกษาสาขาอุตสาหกรรมการบิน (Aerospace) สาขาอุตสาหกรรมการเกษตร (เกษตรสมัยใหม่) สาขาหุ่นยนต์ (Robotic) ฯลฯ ซึ่งทางสิงคโปร์ยินดีให้การสนับสนุนและได้เสนอการจัดการฝึกอบรมหลักสูตรระยะสั้น 3 – 6 เดือน โดยจะให้ประสานการดำเนินงานร่วมกันระหว่าง 2 ประเทศโดยเร็ว